Ferrari PUROSANGUE ภารกิจสร้างรถ 4 ประตู 4 ที่นั่ง ให้ได้อารมณ์สปอร์ต
ข่าวคราวว่าม้าลำพองจะผลิตรถยนต์แบบ 4 ประตู 4 ที่นั่ง เป็นเรื่องที่พูดถึงกันในแวดวงยานยนต์มาหลายปี และในที่สุด Ferrari PUROSANGUE (เฟอร์รารี่ พูโรซังกเว้) ซึ่งเป็นภาษาอิตาลีแปลว่า “พันธุ์แท้” ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ Teatro del Silenzio ในลาญาติโค ใกล้ๆเมืองปิซา
เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ 75 ปี ของม้าลำพอง
ทั้งนี้ที่ผ่านมา เฟอร์รารี ไม่เคยมีรถในรูปแบบนี้มาก่อน แต่ก็มีการพัฒนารถแบบ 2+2 ที่นั่ง ที่มีเบาะขนาดเล็กด้านหลังอีก 2 ตัว ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์การตลาดมาตลอดเช่นกัน
เฟอร์รารี บอกว่า การพัฒนารถรุ่นนี้สร้างเลย์เอาต์ที่แตกต่าง เมื่อเทียบกับรถแบบ GT ในปัจจุบัน ที่มักเรียกว่าครอสโอเวอร์ และ เอสยูวี
โดยทั่วไปสำหรับ จีที สมัยใหม่เครื่องยนต์มักติดตั้งเยื้องไปด้านหน้าจนเกือบคร่อมเพลาหน้า โดยมีชุดเกียร์ที่ต่อตรงไปยังเครื่องยนต์ นั่นทำให้การกระจายน้ำหนักไม่เหมาะสม ขาดไดนามิคและอรรถรสในการขับขี่ที่ลูกค้าของม้าลำพองและผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่คุ้นเคยกันดีในรถเฟอร์รารี่
แต่สำหรับ Purosangue วางเครื่องยนต์ไว้กลางลำด้านหน้า แต่แยกชุดเกียร์ไปไว้ด้านหลัง เพื่อให้ได้เลย์เอาต์ระบบขับเคลื่อนแบบรถสปอร์ต หน่วยควบคุมการถ่ายทอดกำลัง (Power Transfer Unit – PTU) ติดตั้งไว้ด้านหน้าของเครื่องยนต์ ทำให้รถมีอัตราส่วนการกระจายน้ำหนัก หน้า:หลัง ที่ 49:51 ซึ่งทีมวิศวกรแห่งมาราเนลโลเห็นพ้องกันว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางลำด้านหน้า
ซึ่งเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบ V12 ทำมุม 65 องศา ไม่มีระบบอัดอากาศ ระบบขับเคลื่อน ขนาด 6,496 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 725 แรงม้า ที่ 7750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 716 นิวตันเมตร ที่ 6250 รอบ/นาที รอบเครื่องยนต์สูงสุด 8250 รอบ/นาที
ท่อไอดี, การจุดระเบิด และไอเสีย ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ฝาสูบนำมาจากรุ่น 812 Competizione พร้อมพัฒนาให้ประสิทธิภาพเชิงกลและการเผาไหม้ดีขึ้น โดยปรับใช้จากแนวคิดที่ได้มาจากรถแข่งฟอร์มูล่า 1
เสียงเครื่องยนต์ ผ่านการคิดค้นกระบวนการทำงาน ทั้งลำดับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ท่อร่วมไอเสียที่มีความยาวเท่ากันทั้งหมด ปรับแต่งให้การประสานเสียงของกระบอกสูบทั้ง 12 ออกมาดีที่สุด
ท่อร่วมอากาศแบบใหม่ พร้อมกับช่องรับอากาศที่ปรับปรุงใหม่ ให้เสียงโทนแหลมสูงร่วมกับเสียงย่านความถี่กลาง หม้อพักไอเสียแบบโปรเกรสซีฟทั้ง 2 ชุด สามารถสั่งการทำงานได้ผ่าน Manettino รองรับการขับขี่ทั้งในเมืองและในแบบเพอร์ฟอร์มานซ์
ส่งกำลังผ่านเกียร์ 8 สปีด F1 DCT คลัตช์น้ำมันคู่ มีขนาดกะทัดรัดกว่าเดิม ลดความสูงลง 15 มม.ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำลงไปด้วย
เฟอร์รารี ระบุว่าประสิทธิภาพของคลัตช์ชุดใหม่เพิ่มขึ้น 35% และรองรับแรงบิดระหว่างเปลี่ยนเกียร์ได้มากสุดถึง 1,200 นิวตันเมตร ชุดควบคุมแรงดันไฮดรอลิกเจเนอเรชั่นใหม่ช่วยให้เวลาในการปลดและจับคลัตช์เร็วกว่าเดิม ทำให้เวลารวมในการเปลี่ยนเกียร์ลดลงเมื่อเทียบกับเกียร์ DCT 7 สปีดรุ่นก่อน
อัตราทดเกียร์ใหม่หมายถึงแต่ละเกียร์จะสั้นลงและต่อเนื่องมากขึ้น ขณะที่อัตราทดเกียร์สูงที่ยาวขึ้นจะช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเมื่อขับขี่ทางไกล การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ (Down shift) ปรับแต่งให้ทำงานได้นุ่มนวล
- ความเร็วสูงสุด > 310 กม./ชม.
- 0-100 กม./ชม. 3.3 วินาที
- 0-200 กม./ชม. 10.6 วินาที
- 100-0 กม./ชม. 32.8 เมตร
- 200-0 กม./ชม. 129 เมตร
ในด้านการออกแบบ โครงสร้างตัวถังให้มีผลต่อสมรรถนะการขับขี่ และหลักแอโร่ ไดนามิค เฟอร์รารี มุ่งไปที่ใต้ท้องรถ และดิฟฟิวเซอร์หลัง ของ Purosangue เป็นพิเศษ เพื่อให้ได้หลักอากาศพลศาสตร์มากที่สุด ด้วยความเป็นรถที่มีใต้ท้องรถสูงกว่า เฟอร์รารีอื่นๆ ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่กันชนหน้าและซุ้มล้อทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยสร้างม่านอากาศขึ้นมาปิดล้อคู่หน้า ป้องกันไม่ให้เกิดลมหมุนย้อนกลับ
เฟอร์รารี่ยังติดตั้งระบบควบคุมไดนามิกรุ่นล่าสุด รวมถึงระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อ และระบบ ABS ‘evo’ พร้อม Chassis Dynamic Sensor แบบ 6 ทิศทาง
และที่จัดเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของโลกคือ ระบบช่วงล่างแบบแอคทีฟ ซึ่งช่วยควบคุมการเอียงตัวของรถขณะเข้าโค้ง และทำให้หน้ายางยังคงติดพื้นขณะวิ่งบนผิวทางขรุขระ
แชสซีส์ พัฒนาขึ้นมาใหม่ หลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ ช่วยลดน้ำหนัก และทีมออกแบบยังสามารถใส่ประตูหลังแบบบานพับอยู่ด้านหลัง (Welcome Doors) ทำให้สามารถ เข้า-ออก รถได้ง่ายขึ้น
ภายในห้องโดยสาร ติดตั้งเบาะนั่งไฟฟ้าแบบทำความร้อนได้ทั้ง 4 ที่นั่ง และแน่นอนที่เก็บสัมภาระท้ายรถมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เฟอร์รารีเคยผลิตออกมา นอกจากนี้เบาะหลังยังพับได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ใส่สัมภาระ
ส่วนการจัดวางตำแหน่งควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ยังเป็นแบบเดียวกับเฟอร์รารีทุกคัน ทำให้ลูกค้าคุ้นชิน แต่ที่เหนือกว่า คือ ตำแหน่งการนั่งที่คุมได้ง่ายกว่า
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐาน ที่ติดตั้งมาให้เช่น ชุดเครื่องเสียง Burmester และออปชั่นสุดพิเศษให้เลือกหลายอย่างรวมถึงหนัง Alcantara แบบใหม่ ที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผ่านการรับรอง
แชสซีส์ของ Purosangue ออกแบบขึ้นใหม่ โครงสร้างส่วนล่างเป็นอะลูมิเนียมอัลลอย พร้อมเพิ่มความต้านทานการบิดตัว 30% ค่าความแข็งของคาน 25%
ชิ้นส่วนหลายชิ้นเป็นการผลิตแบบหล่อขึ้นรูปแบบกลวงทำให้ได้ความบางเป็นพิเศษ และยังใช้ เทคโนโลยีพิเศษนีเพิ่มคุณภาพการประกอบให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น, มีองค์ประกอบน้อยลง และลดแนวเชื่อมลง
ตัวถัง มีส่วนประกอบของวัสดุหลายอย่าง ทั้งอะลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ และเหล็กความแข็งแกร่งสูงที่นำมาใช้ในบริเวณสำคัญๆ และประกบข้อต่อต่างๆ ด้วยกาวยึดโครงสร้าง ทั้งหมดนี้ช่วยให้ไดความแข็งแกร่ง และลดน้ำหนักรถลงไป
หลังคาเลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์แบบชิ้นเดียวพร้อมฉนวนป้องกันเสียงรบกวนในตัว เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีน้ำหนักเบากว่าหลังคาอะลูมิเนียมที่มีฉนวนป้องกันเสียง 20% ฝาท้ายผลิตขึ้นจากอะลูมิเนียมเป็นแบบ เปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า
ด้านหลักอากาศพลศาสตร์ เฟอร์รารี บอกว่า ส่วนเว้าส่วนโค้งและข้อจำกัดที่แตกต่างกันมากของ Purosangue ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ทำให้เกิดความท้าทายใหม่
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคิดใหม่โดยสิ้นเชิงทั้งด้านทฤษฎีและการแก้ปัญหา เป้าหมายสูงสุดคือการลดแรงต้าน, การใช้งานที่เฉพาะเจาะจง และความต้องการของตลาด ตลอดจนความจำเป็นในการลดความร้อนของเครื่องยนต์ V12
ในขั้นตอนการพัฒนา เฟอร์รารี ใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงไปกับอุโมงค์ลม และเครื่องจำลองเชิงคำนวณในการเคลื่อนไหวแบบพลศาสตร์ อีกนับพันครั้ง
จุดโฟกัสหลักของเรื่องนี้ คือ ส่วนกึ่งกลางของรถ ซึ่งจำเป็นต่อการออกแบบการไหลของอากาศ รวมถึงลดพื้นที่พื้นผิวด้านหน้า ดังนั้นรูปร่างด้านหน้าจึงรออกแบบให้สร้างความต่อเนื่องไร้รอยต่อระหว่างพื้นที่ส่วนโค้งสูงสุดของฝากระโปรงหน้าและขอบบนของกระจกบังลมหน้าให้ได้มากที่สุด พื้นที่ด้านหลังของหลังคา, กระจกหลัง และสปอยเลอร์ คือจุดที่ต้องทำงานกันหนักที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการจัดการกับการแยกส่วนการไหลและสนามแรงดันของอากาศ
สปอยเลอร์หลังคาแบบลอยตัวช่วยปรับความโค้งของกระแสอากาศของพื้นที่บริเวณเหนือศีรษะของผู้โดยสาร สันบนขอบฝาท้ายซึ่งยกตัวสูงขึ้นเพียง 7 มม. จะส่งกระแสอากาศวนเพื่อสร้างแรงบีบอัดเล็กน้อยที่ส่วนท้ายของรถ
อีกส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน คือ กระแสอากาศจากล้อทั้งสี่ มีการใช้ทางออกด้านอากาศหลากหลายวิธีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ นรวมถึงการผสานครีบระบายอากาศเข้าไปในแผงปิดซุ้มล้อแบบลอยตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
แต่ระบบที่ซับซ้อนที่สุดอยู่ที่ด้านหน้า ซึ่งทั้งกันชนและครีบทำงานประสานกันเพื่อสร้างม่านอากาศบริเวณล้อหน้า ป้องกันไม่ให้เกิดการปั่นป่วนของอากาศตามแนวขวาง
ด้านหลังของแผงปิดซุ้มล้อหน้า มีท่อเพิ่มเติมที่ทำโปรไฟล์ไว้เพื่อเพิ่มการดูดอากาศออกจากด้านในของล้อ และยังใช้วิธีเดียวกันนี้ที่ซุ้มล้อหลังร่วมกับช่องระบายอากาศที่ซุ้มล้ออีกด้วย นอกจากนั้น พื้นผิวด้านนอกของซุ้มล้อยังได้รับการปรับแต่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับจุดแยกการไหลของอากาศ ซึ่งจะไหลต่อไปตามด้านข้างของตัวรถและล้อต่างๆ อีกด้วย
มิติตัวถังและน้ำหนัก
- ความยาว 4,973 มม.
- ความกว้าง 2,028 มม.
- ความสูง 1,589 มม.
- ความยาวฐานล้อ 3,018 มม.
- ความกว้างฐานล้อหน้า 1,737 มม.
- ความกว้างฐานล้อหลัง 1,720 มม.
- น้ำหนักรถเปล่า 2,033 กก.
- ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 100 ลิตร
- ความจุห้องเก็บสัมภาระ 473 ลิตร
ล้อและยาง
- หน้า 255/35 R22 J9.0
- หลัง 315/30 R23 J11.0
ระบบเบรก
- หน้า 398 x 38 มม.
- หลัง 380 x 34 มม.
ระบบอิเลกทรอนิกส์
- ระบบควบคุมการลื่นไถลด้านข้าง (Side Slip Control – SSC) เวอร์ชั่น 8.0
- ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4RM-S evo
- ระบบกันสะเทือนแบบแอคทีฟ (Ferrari active suspension technology)
- ระบบ F1-Trac
- ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรก ABS ‘EVO’ พร้อมระบบประเมินแรงยึดเกาะ เวอร์ชั่น 2.0