สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC
นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีและเครือข่าย การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลและนวัตกรรมข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “บัตรทอง 30 บาท” เพื่อคนไทยผู้มีสิทธิ์กว่า 46 ล้านคนได้รับการรักษาพยาบาลโดยทั่วถึง กล่าวว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนบริการ 30 บาท ในสภาพสังคมไทยยุคหลังโควิด ทั้งนี้เนื่องจากวิถีนิวนอร์มอลซึ่งคนเปลี่ยนมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้นแต่เลี่ยงการไปโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลได้หันมาเพิ่มบริการเทเลเมดและรูปแบบบริการสุขภาพใหม่ๆ เพิ่มความสะดวกในแบบวิถีใหม่ต่างไปจากยุคเดิม ซึ่งในส่วน สปสช ได้พัฒนาการให้บริการบัตรทองให้สอดคล้องวิถีดังกล่าว เน้นลดข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการรูปแบบใหม่ๆ โดยที่เปิดบริการแล้ว เช่น การลงทะเบียนย้ายหน่วยบริการได้สิทธิ์ทันทีจากเดิมที่ต้องรอ 15 วัน นโยบายมะเร็งเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ไม่ต้องมีใบส่งตัวจากจังหวัด และนโยบายให้ผู้ป่วยในแอดมิทในโรงพยาบาลนอกพื้นที่ได้โดยไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัว ฯลฯ รวมถึงแผนอนาคตที่มุ่งขยายโอกาสให้ผู้ใช้สิทธิ์ทั่วประเทศเข้าถึงบริการอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขับเคลื่อน ‘นวัตกรรมบริการวิถีใหม่’ รองรับนิวนอร์มอลอย่างยั่งยืน
“จากบริการใหม่ในช่วงโควิดที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นเช่น การจัดชุดคัดกรอง ATK ให้ประชาชนรับไปตรวจเองผ่านทางร้านยา สปสช.ได้ต่อยอดเป็น ‘นวัตกรรมบริการวิถีใหม่’ หลักคิดคือใช้พฤติกรรมและความสะดวกของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และหาวิถีทางสนับสนุนบริการเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุดที่สุด” ทั้งนี้โดย สปสช.ได้มุ่งมั่นผลักดันการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ เข้าร่วมในระบบบัตรทองเพื่อเป็นช่องทางกระจายการบริการสู่ทั่วประเทศ ประชาชนจะเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่ครอบคลุมมากขึ้นได้จากคลินิกและร้านยาใกล้บ้านแทนการต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลและรอคิวนาน โดยล่าสุด สปสช.ได้เปิดบริการแล้วทั้งสิ้น 8 นวัตกรรมบริการวิถีใหม่ ได้แก่ ร้านยา คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และคลินิกแพทย์แผนไทย โดยหน่วยบริการเหล่านี้ยังเป็นช่องทางให้กับการส่งเสริมการดูแลสุขภาพตัวเองของประชาชนได้ในระยะยาวอีกด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ เพิ่มการเข้าถึงสิทธิ์บัตรทองผ่านช่องทางหลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายและนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการอัปเกรดสิทธิบัตรทองด้วยนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ซึ่งต้องการศักยภาพเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ วิสัยทัศน์ด้านไอที สปสช.ได้คาดการณ์ว่าเมื่อขยายบริการเพิ่มขึ้นจะส่งผลเพิ่มข้อมูลจำนวนมากในระบบไอทีซึ่งการรองรับด้วยดาต้าเซ็นเตอร์ไม่เพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แข็งแกร่งและประสิทธิภาพสูงจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ โดย สปสช ได้ใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC (Government Data Center and Cloud service) และจุดแข็งของระบบคลาวด์ที่ขยายได้ไม่จำกัด สนับสนุนการดำเนินงานไอทีให้รองรับได้
เพิ่มศักยภาพรับข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยระบบไอทีบนคลาวด์ GDCC
นายประเทือง กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมระบบไอทีต้องพร้อมรับข้อมูลจากนวัตกรรมบริการต่างๆ เน้นการพิสูจน์ตัวตนก่อนรับบริการและการเบิกจ่ายเป็นระบบหลักที่สำคัญ การ Authentication สำคัญมากทั้งฝั่งคนไข้ที่ต้องทำการเสียบบัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนว่ามารับบริการจริง และฝั่งหน่วยบริการที่จะต้องยืนยันให้ตรงกันด้วยเพื่อเบิกจ่ายไม่ผิดพลาด ตรงนี้เป็น work load พอสมควรโดยหากมองภาพย้อนไปไม่ต่างจากช่วงโควิด 19
“ช่วงโควิดเราใช้ดาต้าเซ็นเตอร์จะพบปัญหาระบบล่มเมื่อผู้ใช้สิทธิ์พร้อมกันจำนวนมากทำให้ สปสช.เริ่มใช้คลาวด์ โดยระบบแรกๆ ที่เริ่มย้ายขึ้นคลาวด์คือ Authentication หรือระบบพิสูจน์สิทธิ์ผู้ใช้บริการ และระบบเบิกจ่ายซึ่งต้องทำงานสัมพันธ์กัน ปัจจุบันเราใช้คลาวด์ GDCC พิสูจน์ตัวตนได้ในเวลาไม่ถึง1นาที และระบบสามารถ Auto Extend รับข้อมูลพีคไทม์ช่วงเช้าได้รวดเร็วคนไข้จึงไม่ต้องใช้เวลาเข้าคิวรอนาน ทุกวันนี้ สปสช.รับข้อมูลคนไข้ 1 ล้านทรานแซกชันต่อวันจากโรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม วันนี้การเพิ่มนวัตกรรมวิถีใหม่เต็มรูปแบบถือเป็นโหลดงานมากและท้าทายยิ่งขึ้นอีกระดับ โดยโจทย์ใหญ่ของระบบงานไอทีคือเมื่อมีบริการเพิ่มขึ้นจะต้องสามารถรักษาคุณภาพงานพิสูจน์การใช้สิทธิ์และการเบิกจ่ายที่รวดเร็วให้ได้ รวมถึงต้องปรับกลไกการเงินให้สอดคล้องกับนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้รองรับเป้าหมายสำคัญคือการเบิกจ่ายที่รวดเร็วใน 72 ชม. ซึ่งขณะนี้นำร่องใน 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส ล่าสุดขยายเพิ่ม 8 จังหวัด เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สิงห์บุรี, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และพังงา โดยมีเป้าหมายขยายเพิ่มทั่วประเทศภายในกันยายน ทั้งนี้ สปสช. ใช้เทคโนโลยีช่วยให้การเบิกจ่าย รวดเร็วและถูกต้อง จากเมื่อก่อนที่ระบบล่ม วันนี้ สปสช.มั่นใจการเพิ่มศักยภาพพร้อมรับมือด้วยคลาวด์ GDCC ซึ่งหัวใจคือการเชื่อมโยงข้อมูลระบบทั่วประเทศ โดยเราเปลี่ยนจากการส่งข้อมูลแบบเดิมซึ่งช้า เป็นแบบใหม่คือเชื่อมระบบข้อมูลของหน่วยบริการเข้ามาที่ สปสช. เพื่อข้อมูลส่งได้เร็วขึ้น บวกกับเริ่มใช้ AI Audit ตรวจสอบการส่งเบิกให้ได้เร็วขึ้นเพื่อสามารถจ่ายเงินได้เร็วขึ้น”
คลาวด์เชื่อมโยง สปสช. สื่อสารใกล้ชิดเข้าถึงประชาชนรองรับการขับเคลื่อน Self -Care
การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคให้กับคนไทย 67 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่ สปสช ต้องทำให้คนไทยทั่วประเทศทั้งผู้มีสิทธิ์และไม่ได้มีสิทธิ์บัตรทองสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ผ่านหน่วยบริการใกล้บ้าน อย่างสะดวกสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ใช้ค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุดและไม่เป็นภาระครอบครัว ทั้งนี้ มุ่งใช้นวัตกรรมบริการวิถีใหม่ร่วมกับหลัก Self-Care เป็นเครื่องมือในการขยายบริการที่ทั่วถึงและบริหารใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสุขภาพประชาชนอย่างคุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในหลักของ Self-Care สิ่งที่ สปสช.ต้องทำคือคืนข้อมูลสุขภาพให้ประชาชนและปัจจุบันนี้ทำได้ด้วยเทคโนโลยีของคลาวด์
“ที่ผ่านมาระบบดาต้าเซ็นเตอร์บนเซิร์ฟเวอร์ของ สปสช.เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำข้อมูลให้ประชาชนได้ แต่บนคลาวด์ประชาชนเข้าถึง สปสช.และ สปสช.สื่อสารเข้าหาประชาชนได้โดยตรงเราสามารถคืนข้อมูลให้ประชาชนได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน“สปสช.1330” และผ่านทางไลน์ ทั้งนี้ การผลักดัน Self-Care ไม่เพียงการคืนข้อมูลการรักษาพยาบาล แต่สำคัญคือการให้ข้อมูลความรู้สุขภาพโดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคร้ายแรงต่างๆ พร้อมกับอุปกรณ์ชุดคัดกรองเพื่อประชาชนสามารถทำ Self-Screening โดยคัดกรองโรคที่เสี่ยงหรือโรคที่ใช้จ่ายค่ารักษาแพงๆได้ด้วยตัวเอง”
นอกจากนี้ ช่องทางการสื่อสารของ สปสช.ยุคใหม่ที่รองรับผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ยังรวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานที่มีความเสถียร และคอนแท็กเซ็นเตอร์ 1330 ที่บริการข้อมูลให้กับประชาชนในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และช่องทางโซเชียลมีเดีย ร่วมกับการใช้ AI ช่วยในการค้นหาข้อมูลและตอบปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย
ผสานเทคโนโลยี Big Data ดูแลสังคมไทยสูงอายุ
นายประเทือง ได้กล่าวถึงการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI เข้ามาเพิ่มความเร็วการทำงาน ว่า สปสช.ต้องรองรับโจทย์สำคัญในอนาคตที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มขั้นซึ่งท้าทายการใช้เทคโนโลยีในอีกระดับ ด้วยแนวคิดการใช้เทคโนโลยี Big Data มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและกำหนดนโยบาย ควบคู่ไปกับนโยบายหลักที่รองรับด้วยการจัดบริการผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด และเน้นการดูแลที่ใกล้ชิดผ่านครอบครัว ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนการจ่ายเงินให้โรงพยาบาล
“โดยเฉลี่ยปีหนึ่งๆ ระบบ สปสช.รับข้อมูลสุขภาพ 200 ล้านทรานแซกชันจากผู้ใช้บริการบัตรทอง โดยมีผู้ใช้สิทธิ์จากเริ่มเปิดบริการรวมแล้วกว่า 42 ล้านคนที่วันนี้เป็นข้อมูลมหาศาลอยู่บนคลาวด์ GDCC หากใช้คลาวด์เอกชนจะเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยขณะที่คลาวด์กลางภาครัฐช่วยประหยัดงบประมาณของ สปสช. รวมทั้งมีเครื่องมือซอฟแวร์ต่างๆ ด้าน Big Data ซึ่งยังเป็นความท้าทายที่ สปสช.จะใช้ Big data เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อการกำหนดนโยบายดูแลสังคมสูงอายุที่เพิ่มความแม่นยำตรงเป้าหมาย และสอดคล้องสภาพความเป็นจริงปัจจุบันของสังคมไทยมากที่สุด”